ประเพณีวิ่งควาย

ประเพณีวิ่งควายเป็นประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี ของจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทย ประเพณีนี้ถือได้ว่าเป็นของชาวไร่ชาวสวน หรือเกษตรกรอย่างแท้จริง ในการที่จะมีโอกาสพบปะสังสรรค์ ประกวดประชันการบำรุงเลี้ยงควายของกันและกัน ควายของใครสมบูรณ์กว่ากัน จึงถือเป็นประเพณีของท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ประเพณีวิ่งควายอำเภอบ้านบึง แต่เดิมนั้นจะจัดให้มีงานในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะเป็นวันเทศกาลออกพรรษา มีงานทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ เมื่อ ชาวไร่ ชาวสวน นำสินค้ามาจำหน่ายจะเป็นกล้วย มะพร้าว ใบตอง ข้าวเหนียว ฯลฯ บรรทุกใส่เกวียนมาจำหน่ายให้ชาวบ้าน ร้านค้า นำไปทำข้าวต้มหาง ใส่บาตรหรือบรรทุกสินค้าอื่นๆ มาก็ จะพักควายไว้ในบริเวณวัด และเมื่อจับจ่ายสินค้า ซื้อหาสิ่งของที่ต้องประสงค์เสร็จสิ้นแล้ว ก็ถือโอกาสที่นานทีจะได้พบปะกัน จูงควายเข้าตลาดจนกลายมาเป็นวิ่งควายรอบๆ ตลาดด้วยความ สนุกสนาน

ในปีต่อๆ มาก็เพิ่มการตกแต่งควายสวยงาม เป็นการทำขวัญควายไปในตัว เช่น ทำถุงสวมเขาควาย ตกแต่งเชือกจูงควาย ปฏักเฆี่ยนควาย ทำฉบับหน้าควาย และเพิ่มการตกแต่งคนขี่ควาย ให้สวยงามวิจิตรพิสดาร ไปตามความคิดเห็นของตน จนกลายเป็นประเพณีวิ่งควาย ที่จะต้องแต่งตัวทั้งคนและควาย ในระยะหลังแม้ไม่ได้นำเกวียนบรรทุกสินค้าเข้าสู่ตลาด แต่เมื่อถึงเทศกาลวิ่งควายก็ยังคงนำควายเข้ามาวิ่งเป็นประจำ และนำควายมาพักตามลานวัดต่างๆ ลานวัดเกือบทุกวัดจึงเป็นลานสำหรับพักควายในเทศกาลวิ่งควาย และความเชื่ออีกอย่างของชาวบ้านคนใดเกิดเจ็บป่วย เจ้าของควายจะบนบานศาลกล่าวด้วยการนำควายมาวิ่งแก้บน จนเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

close(x)