สถานธนานุบาล

ลูกค้าของเราคือ ผู้มีเกียรติ หน้าที่ของเรา คือการให้เกียรติ และบริการที่ดีแก่ลูกค้า (นี่คือ สัจจะของเราชาวสถานธนานุบาล)

วิสัยทัศน์สถานธนานุบาล : “บริหารโปร่งใส มั่นคงก้าวไกล ใส่ใจบริการ”

วัตถุประสงค์

1. เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนขัดสนเงินทองเพื่อ บรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า ไม่ต้องไปกู้ยืมที่อื่นที่ต้องเสียดอกเบี้ยสูงกว่า
2. เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการตรวจสอบที่มา โดย กระทำความผิดและสามารถติดตามผู้กระทำผิดได้
3. เพื่อเป็นการควบคุมการรับซื้อของโจร

อัตราดอกเบี้ย

จำนำเงินต้นไม่เกิน5,000 บาท ดอกเบี้ยคิดร้อยละ 0.50 บาทต่อเดือน
จำนวนเงินต้นเกิน 5,000 บาท ดอกเบี้ยคิดร้อยละ 1 บาทต่อเดือน
จำนวนเงินต้นเกิน 30,000 บาท ดอกเบี้ยคิดร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน

ตั๋วรับจำนำมีระยะเวลา 4 เดือน 30 วัน สถานธนานุบาลเมืองบ้านบึง จำหน่ายทรัพย์หลุดจำนำทุกๆ วันเสาร์แรกของเดือน

ขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อตั๋วรับจำนำหาย

1. เจ้าของตํ๋วรับจำนำ ต้องมาแจ้งที่สถานธนานุบาล
2. สถานธนานุบาลจะออกใบรับแจ้งตั๋วจำนำให้ แล้วนำใบรับแจ้งตั๋วจำนำหายนั้น ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อลงบันทึกประจำวัน
3. นำใบรับแจ้งตั๋วจำนำหายที่ผ่านขั้นตอนที่สถานีตำรวจเรียบร้อยแล้วไปที่ว่าการอำเภอ ดำเนินการต่อจากสถานีตำรวจ โดยให้นายอำเภอเป็นผู้ลงชื่อและลงตราประทับในใบรับแจ้ง ตั๋วจำนำหาย
4. เมื่อผ่านทั้งสามขั้นตอนแล้ว ให้เจ้าของตั๋วนำเอกสารมาติดต่อสถานธนานุบาล เพื่อดำเนินการส่งดอกหรือไถ่ถอนต่อไป

นางดวงเพ็ญ ทองมาก

ผู้จัดการสถานธนานุบาล

ประวัติความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

กิจการสถานะนานุบาล ได้เริ่มขึ้นโดย ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตน์ อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่อง จากการไปตรวจราชการในจังหวัดต่างๆ พบว่าในหลายจังหวัด ไม่มีการจัดตั้งสถานธนานุเคราะห์ (ซึ่งดำเนินการโดยกรมประชาสงเคราะห์) หรือโรงรับจำนำของเอกชนเหมือนอย่างในนครหลวงกรุงเทพ ธนบุรี และเห็นว่ากิจการดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือคนยากจนขัดสนเงินได้บรรเทาความเดือดร้อนหรือแก้ขัดได้โดยไม่ต้องไปกู้ยืมเงินจากเอกชนโดยเสีย ดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่า แล้วยังจะมีส่วนช่วยในด้านควบคุมการรับซื้อของโจรอีกด้วย

การดำเนินการจัดตั้งสถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ) ของเทศบาลและสุขาภิบาล นอกจากมีขึ้นตาม บทบัญญัติของกฎหมายแล้วยังมีที่มาจากมติของ คณะรัฐมนตรี และมติของที่ประชุมกระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินการจัดตั้งเป็นกรณีพิเศษ ต่างจากการตั้งโรงรับจำนำทั่วไป กล่าวคือ

  1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2503 ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดตั้งโรงรับจำนำขึ้นในต่างจังหวัด ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือ
    คนยากจนขัดสนเงินจะได้ไม่ต้องไปกู้ยืมจากเอกชนซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยสูงมากและควบคุมการรับซื้อของโจร
  2. ในคราวประชุมของกระทรวงมหาดไทยครั้งที่ 20/2503 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2503 ที่ประชุมได้มี มติกำหนดนโยบายให้เทศบาลดำเนินการจัดตั้ง สถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ) โดยมุ่งหมายที่จะได้ให้ประโยชน์ไปสู่ประชาชนอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบและป้องกันการรับซื้อของโจร กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้วเห็นเทศบาลมีอำนาจที่จะดำเนินการโรงรับจำนำหรือสถานสินเชื่อท้องถิ่นได้อยู่แล้ว และเหมาะสมที่จะดำเนินการสนองนโยบายเพราะเป็นหน่วยการปกครองที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนในด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด จะสามารถอำนวยบริการในด้านนี้ให้แก่ประชาชนได้ดี ในขั้นต้นจึงให้เทศบาลนครเชียงใหม่, เทศบาลเมืองนครสวรรค์, เทศบาลเมืองหาดใหญ่ และเทศบาลเมืองอุดรธานีจัดตั้งโรงรับจำนำขึ้นเป็น การทดลองก่อน โดยเรียกโรงรับจำนำของเทศบาลว่า “สถานธนานุบาล”

เทศบาลนครเชียงใหม่ได้เปิดกิจการขึ้นเป็นแห่งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2503 ต่อมาในปี พ.ศ.2504 ได้เปิดกิจการขึ้นอีก 3 แห่ง รวมเป็น 4 แห่ง ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันระลึกการจัดตั้งสถานธนานุบาล

สถานธนานุบาลเทศบาลเมืองบ้านบึง ได้เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2539 เป็นต้นมา ที่ตั้งของสถานธนานุบาล : ติดตลาดโต้รุ่ง เลขที่ตั้ง 3 ถ.รำแพนเนื่องจำนงค์ 1 ต.บ้านบึง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี 20170

close(x)